บุพการี ทอ. เดินทางไปศึกษาวิชาการบิน

บุพการี ทอ. เดินทางไปศึกษาวิชาการบิน

                ก้าวแรกของกิจการบินในประเทศไทยเริ่มขึ้นหลังจากการบินโลก ๗ ปี ในวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๔๕๓พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชานุญาตให้นักบินเบลเยียมแสดง “การใช้เครื่องยนต์ในอากาศ” ให้ชาวสยามได้ชมเป็นครั้งแรก นั่นเป็นการเปิดโลกทัศน์และทำให้เกิดก้าวสำคัญต่อมาในประวัติศาสตร์การบินของไทย

                ๑๘ มกราคม ๒๔๕๔ มีคำสั่งจากกระทรวงกลาโหม ให้นายทหาร ๓ คน ได้แก่ พ.ต.หลวงศักดิ์ศัลยาวุธ  ร.อ.หลวงอาวุธสิขิกร และ ร.ท.ทิพย์ เกตุทัต เตรียมตัวไปศึกษาวิชาการบินที่ฝรั่งเศส

                ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๔๕๔ นายทหารทั้ง ๓ ออกเดินทางโดยเรือนวนตุง จากท่าเรือวัดพระยาไกรสู่สิงคโปร์ เพื่อต่อเรือเออร์เนสต์ ซิมอง ของฝรั่งเศส รอนแรมกลางทะเล ฝ่าคลื่นลมและอากาศที่แปรปรวนเกือบหนึ่งเดือนจึงถึงเมืองมาร์กเซย เพื่อต่อรถไฟยังปารีส

                ๑๓ วันถัดมา นายทหารทั้ง ๓ เริ่มเรียนภาษาฝรั่งเศส วันละ 2 ชั่วโมง เพื่อต้องการประหยัดงบประมาณและเริ่มศึกษาวิชาการบินโดยเร็ว ทั้งสามใช้เวลาเรียนเพียงเดือนเศษแค่ให้พอสื่อสารเข้าใจด้วยความตั้งใจมุ่งมั่นนำวิชาการบินกลับมาพัฒนาประเทศ ทั้งสามจึงใช้เวลาระหว่างรอเข้าศึกษาเดินทางไปดูงาน และกิจการด้านการบินต่าง ๆ

                ๒ กรกฎาคม ๒๔๕๕ พ.ต.หลวงศักดิ์ศัลยาวุธ เริ่มฝึกบินกับเครื่องบินเบรเกต์ปีกสองชั้น ที่โรงเรียนการบินของเบรเกต์ ในเมืองวิลลาคูเบลย์ ขณะเดียวกัน พ.ต.หลวงอาวุธสิขิกร และ ร.อ.ทิพย์ ได้ฝึกบินกับเครื่องบินนิเออปอรต์ปีกชั้นเดียว ที่โรงเรียนการบินของนิเออปอรต์ ในเมืองมูร์เมอลอง เลอ กรังด์

                การฝึกบินเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้วนั้นเป็นเรื่องเสี่ยงอันตรายอย่างมาก ซึ่งเครื่องบินของ พ.ต.หลวงอาวุธสิขิกร ประสบอุบัติเหตุบินแฉลบตก ทำให้บาดเจ็บที่นิ้วกลางมือขวา และพักรักษาตัวอยู่หลายวัน ส่วนเครื่องบินของ ร.อ.ทิพย์ ได้ชนกับเครื่องบินอีกเครื่องกลางอากาศ แม้อีกฝ่ายทั้งนักบินและผู้โดยสารบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย แต่ ร.อ.ทิพย์ บาดเจ็บสาหัส ต้องพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลนานกว่าสามเดือน

                นอกจากศึกษาวิชาการบินแล้วนายทหารทั้งสาม ยังศึกษาเกี่ยวกับวิธีการซ่อมสร้างชิ้นส่วนเครื่องบิน และยังคงทำภารกิจที่ได้รับมอบหมาย เช่น การตรวจรับเครื่องบินและโทรศัพท์ที่กระทรวงกลาโหมสั่งซื้อ รวมทั้งยังเดินทางไปดูงานด้านการบินอย่างต่อเนี่อง เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์และศึกษาสมรรถนะของเครื่องบินประเภทต่าง ๆ เป็นข้อมูลสำหรับคัดเลือกเครื่องบินที่เหมาะสมกับประเทศไทย อีกทั้งยังเป็นความรู้ที่นำกลับมาเผยแพร่และพัฒนากิจการบินของประเทศในเวลาต่อมา

                ๘ ตุลาคม ๒๔๕๕ พ.ต.หลวงศักดิ์ศัลยาวุธ สำเร็จวิชาการบินตามหลักสูตรของสโมสรการบินฝรั่งเศส และเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนการบินของกองทัพบกฝรั่งเศส จากนั้นในวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๔๕๖ สำเร็จหลักสูตรการบินชั้นสูง ได้ประกาศนียบัตรการบินทหาร

                ๒๔ เมษายน ๒๔๕๖ ร.อ.ทิพย์ สำเร็จการศึกษาการศึกษาวิชาการบินตามหลักสูตรของสโมสรการบินฝรั่งเศส ต่อมาในวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๔๕๖ พ.ต.หลวงอาวุธสิขิกร ได้สำเร็จการศึกษาวิชาการบินเช่นกัน

                ไม่เพียงแต่คนสยามเท่านั้นที่รับรู้และยินดี ทว่าหนังสือพิมพ์ ในสิงคโปร์ได้ลงข่าวการสำเร็จการศึกษาของนายทหารสยามทั้งสามคน พร้อมทั้งระบุว่าสยามมีแผนจะตั้งสนามบินในดอนเมือง โดยใช้สนามม้าสระปทุมเป็นสนามบินชั่วคราวไปก่อน การลงข่าวความเคลื่อนไหวด้านการบินในสยามของหนังสือพิมพ์สิงคโปร์แสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยสมัยนั้น ถือเป็นประเทศผู้นำทางด้านการบินในภูมิภาคเอเชีย

                นายทหารทั้งสามออกเดินทางนำความสำเร็จกลับแผ่นดินเกิด ในวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๔๕๖ โดยขึ้นรถไฟที่สถานีรถไฟการ์ดูนอร์ด จากฝรั่งเศสสู่เยอรมัน จากเยอรมันสู่รัสเซีย โดยแวะดูกิจการทหารและการบินในประเทศรัสเซียด้วย จากนั้นเดินทางต่อด้วยรถไฟสายทรานส์ไซบีเรีย เพื่อไปต่อเรือที่เมืองวลาดิวอสต็อก ไปยังญี่ปุ่น จากญี่ปุ่นเปลี่ยนเรือต่อไปยังจีนฮ่องกง สิงคโปร์ และถึงสยาม ในวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๔๕๖

                นับตั้งแต่วันที่บุพการีทั้งสามกลับถึงประเทศ ความเจริญก้าวหน้าด้านการบินของไทยพัฒนาขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็น มีเครื่องบินเป็นของประเทศเราเอง มีสนามบิน มีการสร้างเครื่องบินขึ้นใช้เอง เกิดกองบินทหารบกและพัฒนาเป็นกองทัพอากาศ ศักยภาพด้านการบินของเราเป็นที่กล่าวถึงในภูมิภาคเอเชีย และเป็นที่รู้จักของชาวโลก มีชาวต่างชาตินำเครื่องบินมาเยือนประเทศมากมาย ที่สำคัญเราได้ก้าวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในสงครามโลกครั้งที่ ๑ เราสามารถสู้รบกับมหาอำนาจได้ในสงครามกรณีพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศส และสงครามมหาเอเชียบูรพา

                แม้ในยามสงบ เรายังใช้เครื่องบินในการเยือนเพื่อสร้างสัมพันธไมตรีกับประเทศต่าง ๆ รวมทั้งใช้ขนส่งไปรษณีย์และขนส่งทางการแพทย์ กิจการด้านการบินของประเทศได้พัฒนายั่งยืนยาวนานเช่นนี้ นั่นเพราะ พระยาเฉลิมอากาศ พระยาเวหาสยานศิลปสิทธิ์ พระยาทะยานพิฆาต เต็มเปี่ยมไปด้วยความมุ่งมั่น ปราดเปรื่องและมองการณ์ไกล สร้างรากฐานที่มั่นคง ทำให้การบินในประเทศไทยก้าวหน้ามาจนถึงปัจจุบัน ท่านจึงได้รับการยกย่องว่า เป็น บุพการีทหารอากาศ

 

โดย : แผนกประวัติศาสตร์ กพป.สบ.ทอ   .

Scroll to Top